การตรวจสุขภาพทางการเงินง่ายๆ ด้วยตนเอง

       มีหลายคนคงที่มีความรู้สึกไม่พอใจกับการจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ของตัวเองเท่าไรนัก บางคนทำตามที่วางแผนไว้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ในขณะที่บางคนทำตามที่วางแผนไว้ไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งบางคนก็ไม่ได้วางแผนอะไรไว้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งทางการเงิน เช่นเดียวกับร่างกายสมส่วนและแข็งแรง เราจึงควรตรวจสุขภาพทางการเงินของเราอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่ดี เราขอนำเสนอ 4 ขั้นตอนต่อไปนี้ให้ทุกท่านทดลองนำไปใช้กัน

  1. ตรวจเช็กสถานะทางการเงินของตัวเอง

           ให้เริ่มจัดทำงบการเงินของตนเอง โดยพิจารณาว่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกี่เล่ม  มีกองทุน (LTF กับ RMF) ที่ซื้อไว้กี่ตัว รวมกันแล้วเป็นจำนวนเท่าไร จากนั้นก็มารวบรวมจำนวนหนี้สินที่มี เช่น การผ่อนชำระค่าบ้าน ผ่อนชำระค่าคอนโด หรือ ผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ เป็นต้น บางคนอาจมีหนี้สินเยอะ ในขณะที่มีทรัพย์สินจำนวนน้อยก็ไม่เป็นไร หรืออาจจะมีหนี้ที่ไม่ดีเริ่มแสดงอาการให้ได้รู้ ให้ได้เห็น เราก็จะได้รีบจัดการให้เหลือแต่หนี้ที่ดี ซึ่งโดยปกติสัดส่วนหนี้ไม่ควรมีเกินร้อยละ 50 ของทรัพย์สินรวมทั้งหมด ขอเพียงให้เราสามารถรู้เกี่ยวกับสถานะการเงินของตัวเองตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ดี เป็นการช่วยตรวจสอบตัวเอง ทำให้เราบริหารได้ถูกว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพย์สินมีจำนวนเพิ่มขึ้น หรือ จะทำอย่างไรให้หนี้สินลดลง  และยังสามารถแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ของทรัพย์สินให้แก่สมาชิกในครอบครัวได้ด้วยหากตัวเราเป็นอะไรไปแบบกะทันหัน

  1. จัดทำแผนการใช้เงิน

           คนส่วนใหญ่มักบอกว่าชีวิตต้องใช้ให้มันสมดุล อย่าขี้เหนียวจนเกินไปหรืออย่าประหยัดจนตัวเองต้องเดือนร้อน แต่ถ้าหากเราไม่มีการวางแผนทางการเงินแล้วมีเหตุต้องใช้เงินขึ้นมา ยกตัวอย่าง เช่น วันหนึ่งเกิดอยากเพิ่มพูนความรู้ด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือ อยากหาประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับชีวิตของตัวเองด้วยการท่องโลกต่างแดน ก็อาจจะเกิดความหนักใจขึ้นมาได้ ดังนั้น  เราควรวางแผนและช่วงเวลาทำกิจกรรมพิเศษเหล่านี้ตั้งแต่ต้นปี
โดยค้นหาข้อมูลและตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้พร้อม เพื่อตรวจดูทรัพย์สินที่มีว่ารองรับกับตัวเลขค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้อย่างเพียงพอหรือไม่  ถ้าไม่พอก็ต้องวางแผนหารายได้เพิ่มหรือวางแผนการจัดการให้รัดกุมขึ้น

 

  1. คิดวางแผนทางภาษีตั้งแต่ต้นปี

          โดยปกติ ท่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือน มักจะคาดเดาตัวเลขของรายได้ตัวเองตลอดทั้งปีได้ค่อนข้างแม่นยำ  ดังนั้น ใครที่มีตัวเลขรายได้เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงควรเตรียมตัวไว้ให้พร้อม เริ่มตั้งแต่เช็กค่าลดหย่อนส่วนตัวเอาไว้ ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องซื้ออะไรก็ตามเพื่อลดหย่อนเพิ่มอย่างเช่น LTF หรือ RMF เป็นต้น ก็อาจใช้วิธีทยอยซื้อทุกเดือนด้วยการตัดบัญชีอัตโนมัติเพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงออกไปและไม่เป็นภาระการเงินแก่ตัวเองในช่วงปลายปี รวมถึงการวางแผนซื้อประกันชีวิตสำหรับลดหย่อนภาษีด้วย อีกเรื่องคือการจัดเก็บเอกสารหลักฐานของภาษีต่างๆ ให้เป็นระบบ สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่าหนึ่งแหล่ง คือ มีทั้งรายได้ประจำจากการเป็นพนักงานประจำและรายได้เสริมจากการประอบอาชีพรับจ้างอิสระ จะต้องบันทึกให้ดีว่าในช่วงเวลาหนึ่งปีมีการรับจ้างทำงานที่ไหนบ้าง โดนหักภาษีไปจำนวนเท่าไร และได้รับเอกสารหนังสือภาษีหัก ณ ที่จ่ายครบถ้วนแล้วหรือไม่  เพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นในช่วงปลายปี

  1. ตรวจข้อมูลบัตรเครดิต

สำหรับคนที่มีหนี้สินหรือกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หรือ การท่องเที่ยว และอื่นๆ นั้นควรจะไปตรวจสอบข้อมูลไว้บ้าง เพราะระบบข้อมูลมันอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่บอกว่าเราผิดนัดชำระ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางการเงินของเราในอนาคตได้ ดังนั้น หากพบเมื่อไรก็ควรเอาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเคลียร์กับธนาคารให้เรียบร้อยโดยเร็ว หรือ ในบางคนอาจบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นหนี้ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลอาจจะพบว่ามีหนี้อยู่ในระบบก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ควรจะตรวจเช็กให้ดี ซึ่งวิธีการขอตรวจสอบข้อมูลของตัวเองนั้นก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำบัตรประชาชนไปขอตรวจเช็กกับธนาคารที่ใช้บริการอยู่เท่านั้นเอง

เพื่อให้ทุกคนดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท เราจึงควรตรวจสุขภาพทางการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง  หากมีอะไรผิดปกติ หรือ ส่งสัญญาณแปลก เราจะได้หาวิธีแก้ไขได้อย่างทันเวลา

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : www.themomentum.co.th และ www.stock2morrow.com